“รับแปลเอกสาร รับแปลภาษา รับรองคำแปล”

ฟอร์บส์ –  คงมีใครหลายๆ ปฏิเสธเสียงชื่นชม วลาดิเมียร์ ปูติน ในฐานะคนดี เมื่อในปี 2014 ปูตินใช้กำลังทหารเข้าครอบครองคาบสมุทรไครเมียในยูเครน และทำสงคราม “proxy war” (แปลว่า สงครามตัวแทน) จนเกิดเหตุมิสไซล์ปริศนาที่ยังมิอาจสรุปได้ว่ายิงมาจากฝ่ายไหน สอยเครื่องบินพาณิชย์ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส แต่ด้วยฐานะผู้นำประเทศที่ร่ำรวยน้ำมัน และมีอาวุธนิวเคลียร์ในมือ จึงไม่ต้องสงสัยและไม่อาจปฏิเสธความแข็งแกร่งและอิทธิพลของปูตินได้แต่อย่างใด

ใครมีอำนาจมากกว่ากัน ระหว่าง ปูติน ผู้นำระดับซูเปอร์เพาเวอร์ อดีตเคจีบีที่ร่างกายยังฟิตเปรี๊ยะ กับบารัค โอบามา ผู้นำประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก? คำตอบอาจสรุปได้จากอันดับของฟอร์บส์ โดยเป็นเวลาสองปีติดต่อกันแล้วที่ผลคะแนนของนิตยสารฟอร์บส์ เทไปทางท่านประธานาธิบดีรัสเซียในฐานะบุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี เหนือโอบามา ผู้นำสหรัฐฯ และสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

ทั้ง 72 อันดับของบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปีประจำปี 2014 ได้รับการคัดเลือกโดยคณะบรรณาธิการของนิตยสารฟอร์บส์ โดยพิจารณากันในหลายประเด็น เช่น ทรัพยากรการเงิน ขอบเขตและการใช้อำนาจ และจำนวนผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งอำนาจเช่นว่า

อันดับดังกล่าวไม่ใช่เพียงการระบุตัวบุคคลที่มีอำนาจ แต่เป็นการประเมินพลังอำนาจที่แท้จริง ทางฟอร์บส์อธิบายว่าผู้คนในลิสต์อันดับเป็นกลุ่มที่มีอำนาจกำหนดและเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลก สามารถโยกย้ายเปลี่ยนแปลงประชากร ตลาด กำลังทหาร และความคิด  ทั้งนี้ รายชื่อในปีนี้ประกอบไปด้วยมีผู้นำจาก 17 ประเทศ ซึ่งมี GDP หรือที่แปลว่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” รวมกันมูลค่ากว่า 48 ล้านล้านดอลลาร์ ซีอีโอและประธานบริษัทอีก 39 รายชื่อซึ่งทำผลกำไรรวมกันกว่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ในกลุ่มนี้ยังประกอบไปด้วยผู้ก่อตั้งบริษัท 14 ราย รวมถึงแจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบา อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ และหม่า ฮั่วเถิง แห่งเทนเซ็นต์ ผู้ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์รายใหญ่แห่งแดนมังกร

ท็อปเท็น เป็นปีที่สองติดต่อกันที่ปูตินครองตำแหน่งบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปี ขณะที่ก่อนหน้านี้ โอบามาเคยครองอันดับหนึ่งมาตั้งแต่ฟอร์บส์เริ่มการจัดอันดับในปี 2009 ก่อนที่จะเสียตำแหน่งให้กับ หู จิ่นเทา อดีตผู้นำจีน ในปี 2010 โดยปีนี้ กลุ่มท็อปไฟว์ยังอยู่เป็นหน้าเดิมกับปี 2013 ทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 4 และนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ซึ่งตกมาอยู่อันดับ 5 ส่วนอันดับ 6 ตกเป็นของ เจเน็ต เยลเลน ประธานหญิงคนแรกแห่ง Federal Reserve System (FED) หรือแปลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตามด้วย บิล เกตส์ และมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่วนอันดับ 9 เป็นการครองอันดับร่วมกันของ เซอร์เกย์ บริน และแลร์รี เพจ สองผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล และอันดับ 10 เป็นของเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

1. วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

2. บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

3. สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

4. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

5. แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี 

6. เจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ

7. บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์

8. มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป

9. เซอร์เกย์ บริน และแลร์รี เพจ ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล

10. เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

ผู้มีอิทธิพลหน้าใหม่ ปีนี้มีผู้ติดอันดับครั้งแรกด้วยกันทั้งหมด 12 ราย หนึ่งในนั้นคือ นเรนทรา โมดี หัวหน้าพรรคภารติยะชนตะ (BJP) นายกรัฐมนตรีอินเดียผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา และจอมพล อับเดล อัล-ซิซี ประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ นอกนั้นยังประกอบด้วย แจ็ก หม่า มหาเศรษฐีชาวจีนผู้ทำการไอพีโอ (Initial public offering (IPO) ซึ่งแปลว่า การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) เป็นสถิติที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน เช่นเดียวกับ อาบู บักร์ อัล-บักดาดี ผู้นำกลุ่มหัวรุนแรงไอเอส หรือ Islamic State ซึ่งกำลังทำสงครามอยู่ในตะวันออกกลางที่ติดอันดับเป็นครั้งแรก

สตรีมีอิทธิพลมากขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้หญิงสองรายอยู่ร่วมกันในท็อปเท็น ได้แก่ นายกฯ แมร์เคิล กับเจเน็ต เยลเลน โดยปีนี้ มีผู้หญิงติดอันดับทั้งหมด 9 รายจาก 72 ราย คิดเป็น 12% ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลโลกซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ แห่งบราซิล และปาร์ค กึนเฮ ผู้นำเกาหลีใต้

อิทธิพลของเอเชีย ในบรรดาผู้มีอิทธิพลทั้ง 72 รายในปีนี้ มีตัวแทนเอเชีย-แปซิฟิกได้รับการจัดอันดับเข้าไปถึง 19 ราย ด้วยเส้นทางอำนาจที่แตกต่างหลากหลาย สายผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติจากเกาหลีใต้ และมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกชาวฮ่องกง สายนักการเมือง ได้แก่ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารญี่ปุ่น และหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และสายผู้ประกอบกิจการที่สร้างฐานะขึ้นมาด้วยตนเอง เช่น ลี กาชิง และแจ็ก หม่า สองนักธุรกิจชาวจีน มาซาโยชิ ซัน ประธานซอฟท์แบงก์ ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของญี่ปุ่น โรบิน หลี่ ผู้ก่อตั้งเว็บไป๋ตู้ หม่า ฮั่วเถิง แห่งเทนเซ็นต์ และเทอร์รี กั๋ว ประธานบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ชาวไต้หวัน

บจก. เค.เอ็ม. ทรานสเลชั่น

รับแปลเอกสารภาษาอังกฤษ รับแปลภาษา รับรองคำแปล